PM 2.5 วายร้ายไซส์จิ๋ว อันตรายที่คุณแม่ไม่ควรมองข้าม
วิธีดูแลลูกน้อยเมื่อค่าฝุ่นละออง PM 2.5 เกินมาตรฐาน
PM 2.5 วายร้ายไซส์จิ๋ว อันตรายที่คุณแม่ไม่ควรมองข้าม
เมื่อปัญหามลพิษทางอาการเกินค่ามาตรฐานกลับมาอีกครั้งและรุนแรงยิ่งกว่าครั้งก่อน คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเล็กคงอดกังวลไม่ได้ เพราะวิกฤตค่าฝุ่นละออง PM 2.5 เกินมาตรฐานนั้นส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างมากทั้งในระยะสั้นและระยะยาว วันนี้เราจึงมีข้อแนะนำจาก สสส. ในเรื่องของการดูแลเด็กเล็กในภาวะค่าฝุ่นละออง PM 2.5 เกินมาตรฐาน มาให้คุณพ่อคุณแม่ได้อ่านกันอีกครั้ง เพื่อรับมือกับมลพิษทางอากาศได้อย่างถูกต้อง
PM 2.5 คืออะไร
ฝุ่นละออง PM 2.5 คือฝุ่นละเอียดขนาดเล็ก เป็นอนุภาคที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่า 2.5 ไมครอน มีขนาดเล็กเพียงแค่ 1 ใน 25 ของขนาดเส้นผม เกิดจากควันเสียต่างๆเช่น ควันเสียจากการเผาไหม้ของรถยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์ดเซลที่มีการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ควันจากโรงงานอุตสาหกรรม ควันจากการเผาไร่นา ควันจากการเผาสิ่งปฎิกูล เป็นต้น
อันตรายจาก PM 2.5 ที่มีต่อเด็ก
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า เด็กเล็กเป็นหนึ่งในกลุ่มเสี่ยงที่อาจได้รับผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ เด็กที่สัมผัสกับมลพิษทางอากาศในระดับสูงอาจมีความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังในระยะยาว เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ รวมทั้งยังส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางระบบประสาทและความสามารถทางปัญญาของเด็ก เนื่องจากปอดของเด็กยังพัฒนาไม่เต็มที่ ทำให้มีอัตราหายใจที่ถี่กว่า ดังนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครอง และครูพี่เลี้ยงควรดูแลเด็กทั้งกลุ่มปกติทั่วไปและเด็กที่มีโรคประจำตัวที่ต้องได้รับการดูแลและสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด
แนวทางการดูแลเด็กเล็กเพื่อป้องกันปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5
1. ติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในเว็บไซต์กรมอนามัย www.anamai.moph.go.th หรือแอพพลิเคชั่น Air4thai ของกรมควบคุมมลพิษ
2. หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกบ้าน ในช่วงที่ปริมาณ PM2.5 ตั้งแต่ระดับสีเขียว (26-37 ไมโครกรัม/ ลูกบาศก์เมตร) ขึ้นไป
3. ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ 6 - 8 แก้วต่อวัน
4. เด็กที่มีโรคประจำตัวควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดและสังเกตอาการ หากพบว่ามีอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจถี่ หายใจไม่ออกให้รีบไปพบแพทย์
5. หากค่า PM2.5 อยู่ในระดับสีแดง (91 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร) ขึ้นไป ห้ามออกนอกบ้าน
6. ปลูกต้นไม้เพื่อดักฝุ่นละอองและมลพิษอากาศ
7. งดกิจกรรมที่ก่อให้เกิด PM2.5 เช่น การเผาใบไม้ เผาขยะ
8. ไม่ติดเครื่องยนต์เป็นเวลานาน
9. ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิดและเปิดพัดลมให้อากาศหมุนเวียน หากมีงบประมาณเพียงพอควรซื้อเครื่องฟอกอากาศ
10. เสริมวิตามินให้ลูก คำแนะนำจาก UNICEF คือให้ทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีวิตามินซี วิตามินอี สารต้านอนุมูลอิสระ และโอเมก้า 3 มากขึ้น
11. ควรให้เด็กสวมหน้ากากอนามัยที่สามารถป้องกันฝุ่นละอองขนาด PM 2.5 ได้ เช่น หน้ากากอนามัยมาตรฐาน N95
12. สำหรับผู้ปกครองที่ลูกเรียนในโรงเรียนที่ยังไม่มีมาตรการรับมือเรื่องฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน ควรแจ้งทางโรงเรียนเพื่อขอให้ลูกงดกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงเวลาที่ค่าฝุ่นละอองสูงเกินมาตรฐาน